ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนอง
การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคืออะไร?
ด้วยศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนองได้มีการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี ซึ่งเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย และจัดทำ QR Code สำหรับใช้ในการตอบรับการเข้าร่วมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี ของคู่กรณี เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของประธานศาลฎีกาและสำนักงานศาลยุติธรรม และเป็นการสนับสนุนให้คู่กรณีสามารถเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรมด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี โดยการส่งเสริมให้คู่กรณีได้เจรจาหาข้อยุติและประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างกันโดยไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล โดยผู้ร้องที่มีข้อพิพาทอยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนอง สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนองด้วยตนเอง ณ ศูนย์ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทประจำศาลเยาวชนครอบครัวจังหวัดระนอง โดยทางไปรษณีย์ ผู้รับส่งพัสดุภัณฑ์ โทรสารของศาล หรือยื่นคำร้องเป็นคำร้องอิเล็กทรอนิกส์ตามแบบพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ทางระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (Court Integral Online Service : CIOS) และหากคู่กรณีหรือประชาชนทั่วไปประสงค์จะให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี สามารถแจ้งผ่านแบบตอบรับเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี ทางระบบ QR Code เพื่อให้ศาลนัดประชุมไกล่เกลี่ยและแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ยและดำเนินการไกล่เกลี่ยต่อไป
ขั้นตอนการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี
2.1 ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนอง (ตามเขตอำนาจหากมีการฟ้องคดี) โดยอาจยื่นคำร้องเป็นหนังสือด้วยตนเอง ณ ศูนย์ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทประจำศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสระนอง โดยทางไปรษณีย์ ผู้รับส่งพัสดุภัณฑ์ หรือโทรสารของศาล โดยใช้แบบพิมพ์โดยแสดงรายการและเนื้อหาในคำร้องตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมประกาศกำหนด หรือยื่นคำร้องเป็นคำร้องอิเล็กทรอนิกส์ตามแบบพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ทางระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (Court Integral Online Service : CIOS) ผู้ร้องจะต้องติดตามผลการยื่นคำร้องและการดำเนินการในกรณีที่ยื่นคำร้องผ่านทางระบบ CIOS สามารถติดตามผลได้ในระบบดังกล่าว
2.2 ถ้าผู้ร้องประสงค์ให้ส่งแบบตอบรับเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งทางไปรษณีย์ ให้ผู้ร้องจัดเตรียมซองผนึกดวงตราไปรษณียากรมอบให้เจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการ และให้เจ้าหน้าที่ส่งหนังสือเชิญชวนไปให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง พร้อมกับสำเนาคำร้องทางไปรษณีย์ โดยใช้ซองจดหมาย ผนึกดวงตราไปรษณียากรที่ผู้ร้องจัดเตรียมให้ โดยกำหนดให้ตอบกลับภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ส่งคำร้องให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง หรืออาจดำเนินการสอบถามความสมัครใจของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดยทางโทรศัพท์ หรือโดยทางไปรษณีย์ ผู้รับส่งพัสดุภัณฑ์ โทรสาร หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมประกาศกำหนด หรืออาจช่วยเหลือศาลในการติดต่อประสานกับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง
กรณียื่นคำร้องผ่านระบบ CIOS ระบบจะส่งหนังสือเชิญชวนคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไปยังที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ร้องระบุมาในคำร้อง หากผู้ร้องประสงค์ให้ส่งแบบตอบรับให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งทางไปรษณีย์ด้วย ให้ผู้ร้องจัดเตรียมซองผนึกดวงตราไปรษณียากรมอบให้เจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการ
2.3 ในกรณีที่คู่กรณีตอบรับเข้าร่วมการไกล่เกลี่ย คู่กรณีอาจเลือกช่องทางที่สะดวกได้แก่ การเดินทางมาที่ศาลด้วยตนเอง หรือวิธีการไกล่เกลี่ยออนไลน์ (Online Mediation)
ในกรณีที่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งปฏิเสธหรือไม่ตอบรับเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยภายในระยะเวลาที่กำหนด ศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ จะงดดำเนินการหรือดำเนินการตามคำสั่งศาล
หลักเกณฑ์เบื้องต้นในการพิจารณา
3.1 ข้อพิพาทอยู่ในเขตอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนองหรือไม่
3.2 มีเหตุผลสมควรที่จะรับคำร้องไว้ไกล่เกลี่ยหรือไม่
3.3 ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องมาก่อนหรือไม่
3.4 ผู้ร้องเคยนำข้อพิพาทตามคำร้องไปฟ้องเป็นคดีแพ่งหรือไม่ โดยหากผู้ร้องเคยนำข้อพิพาทตามคำร้องไปยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลใดศาลหนึ่งไว้แล้วโดยคู่กรณีทั้งสองฝ่ายเป็นคู่ความในคดีนั้น ข้อพิพาทตามคำร้องเคยได้รับการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องแล้วแต่ไม่เป็นผลหรือไม่
การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคืออะไร?
การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เป็นวิธีระงับข้อพิพาท โดยมีบุคคลที่สามซึ่งเป็นคนกลางในการทำหน้าที่ช่วยเหลือเสนอแนวทางและหาทางออกที่คู่พิพาทจะยอมรับและพึงพอในเสนอแก่คู่พิพาททั้งสองฝ่าย หากตกลงเห็นชอบกับข้อเสนอ ก็จะนำไปสู่การตกลงประนีประนอมยอมความกัน โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาล ซึ่งจะมีผลผูกพันให้คู่พิพาทต้องปฏิบัติตาม
วัตถุประสงค์ของการไกล่เกลี่ย
วัตถุประสงค์ของการไกล่เกลี่ยคือ เปิดโอกาสให้คู่ความสามารถยุติข้อพิพาทได้ด้วยความพึงพอใจร่วมกัน ไม่มีฝ่ายใดแพ้หรือฝ่ายใดเป็นผู้ชนะ แต่ถือว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายชนะด้วยกันทั้งคู่และทั้งสองฝ่ายยังสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันได้ต่อไป
ผู้ไกล่เกลี่ยคือใคร?
"ผู้ไกล่เกลี่ย" คือ คนกลางที่คู่พิพาทตกลงให้ช่วยเหลือในการเสนอแนะหาทางออกให้คู่พิพาทสามารถตกลงประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งหากเป็นการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในศาล จะเรียกว่า "ผู้ประนีประนอม" โดยอาจจะเป็นบุคคลภายนอก หรือเจ้าหน้าที่ศาลหรือผู้พิพากษาได้
คุณสมบัติของผู้ไกล่เกลี่ย
การเป็นผู้ไกล่เกลี่ยนั้น ผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องมีความน่าเชื่อถือและเป็นบุคคลที่น่าไว้วางใจ มีเมตตา มีความเป็นกลาง มีความรู้และเข้าใจกฎหมายในประเด็นพิพาทที่จะไกล่เกลี่ย เข้าใจกระบวนการระงับข้อพิพาท เป็นผู้ฟังที่ดี มีทักษะการสื่อสารที่ดี
ข้อพิพาทที่สามารถไกล่เกลี่ยได้มีอะไรบ้าง?
- ข้อพิพาททางแพ่งและพาณิชย์ทั่วไป
- ข้อพิพาททางอาญาที่ยอมความได้
- ข้อพิพาทอื่นที่ยุติได้โดยวิธีไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
ผลการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
- ไม่ว่าคู่พิพาทจะตกลงกันได้หรือไม่ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทย่อมสิ้นสุดลง ข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใดๆที่เกิดขึ้นในชั้นไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงในศาลได้ เว้นแต่คู่พิพาทจะตกลงกันเป็นอย่างอื่น
- การดำเนินกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นความลับ ทั้งผู้ไกล่เกลี่ยและคู่พิพาทต้องเก็บรักษาความลับ ไม่เปิดเผยให้บุคคลภายนอกได้รู้ถึงข้อมูลหรือเงื่อนไขในการเจรจาระหว่างกัน เว้นแต่จะตกลงกันเป็นอย่างอื่น
มีค่าใช้จ่ายหรือไม่?
- การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั้งในศาลหรือนอกศาล คู่พิพาทไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กลุ่มงานไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนอง
โทรศัพท์ 077-813478 ต่อ 809
โทรสาร 077-813478